หลักการตรวจบ้าน ทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์ โดยวิศวกร (ต่อ)

ขั้นตอนการตรวจสอบไฟฟ้า

  1. เปิดไฟฟ้าทั่วทุกดวง
  2. เอาไขควงจิ้มที่น็อต ดูว่ามีไฟรั่วมาที่น็อตหรือเปล่า และใช้ไขควง 4 แฉกเปิดปลั๊กไฟทุกจุด หรือสุ่มดูว่ามีการเดินไฟเอาไว้กี่เส้นต้องมีสายดินต่อเอาไว้ พอเปิดออกมาแล้วจะเห็นสายไฟต้องมี 3 เส้นพอเสร็จแล้วให้เอาไดร์เป่าผม หรือโคมไฟเสียบแล้วลองใช้ดูว่ามีปลั๊กไฟอันไหนบ้างไม่มีไฟ
  3. ตรวจสอบห้องน้ำมีการเดินสายไฟเอาไว้ให้สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น หรือยัง หากห้องไหนมีอ่างอาบน้ำแล้วจำเป็นต้องใช้เครื่องทำน้ำร้อน ก็ให้เดินสายไฟให้ก่อนที่จะทำการตรวจรับมอบบ้าน หรือเป็นไปได้ให้เขียนในสัญญาว่าให้เดินสายไฟให้ฟรี การเดินสายไฟให้เดิน 3 เส้น (มีสายดิน) แล้วที่สำคัญ ต้องมี Breaker ให้ด้วย
  4. ปีนไปดูใต้หลังคา โดยให้ปิด Main Breaker แล้วเอาไฟฉายขึ้นไปดูว่ามีการร้อยสายไฟเอาไว้ในท่อให้เรา หรือเปล่า หากไม่มีให้ทำด้วย รวมถึงใต้ฝ้า เพราะหากหลังคารั่วน้ำมาโดนสายไฟจะเป็นอันตรายกับบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ สายไฟ MAIN อย่างน้อยต้องเป็น 16 square/mm หากสูงกว่านี้ได้ยิ่งดี นอกจากนี้ ต้องไม่มีรอยทำการตัดต่อเป็นอันขาด หากมีการตัดต่อให้ทางโครงการเปลี่ยนให้ เพราะอันตราย มีโอกาสที่ไฟฟ้าลัดวงจรแล้วเกิดเพลิงไหม้ได้สูง
  5. ปิดไฟให้หมดทั้งบ้าน (ไม่ต้องปิด Main Breaker) แล้วไปดูที่มิเตอร์ไฟว่ามีไฟวิ่งอยู่หรือเปล่า หากมิเตอร์ยังวิ่งแสดงว่ามีไฟรั่วให้ทำการตรวจหาแล้วทำการแก้ไขเสียก่อน
  6. หากทางโครงการแถมติดแอร์ให้ฟรี ให้เปิดแอร์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะสามารถเปิดได้ โดยเปิดให้หมด พร้อมกันทุกตัว สักประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วเดินไปดูที่มิเตอร์ไฟว่ามันวิ่งแบบน่ากลัวหรือเปล่า หมุนติ้วๆ เพื่อทำการเช็คได้ว่ามิเตอร์จะทำการรับการใช้งานได้หรือเปล่า แอร์ต้องไม่ตัดอุปกรณ์ทุกอย่างต้องไม่ตัด
  7. ปลั๊กไฟนอกอาคาร ต้องเป็นปลั๊กไฟที่มีตัวปิดกันน้ำให้ด้วยเพราะเวลาฝนตก หรือฝนสาดจะได้ไม่เป็นอันตราย
  8. กระดิ่งไฟหน้าบ้าน ให้ไขออกมาดูว่าเดินไฟ 3 เส้นหรือเปล่า เป็นรุ่นที่มียางกันน้ำ หรือมีกล่องครอบกันน้ำหรือเปล่า สำคัญมากๆ เพราะหากกระดิ่งไฟหน้าบ้าน เกิดชื้นขึ้นมา จะทำให้ กล่อง Safe-t-Cut ตัดตลอด
  9. ดูระบบตัดไฟเมนเบรกเกอร์พร้อมแบ่งชั้นบน-ล่าง มีการต่อสายดินไว้จริง โดยดูจุดลงสายดินให้เรียบร้อย หรือควรหาไขควงวัดไฟจี้ที่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสายดินตรงน็อตสักตัวเพื่อหาไฟรั่ว ทดสอบโดยการปิดไฟทั้งหลังแล้วนั่งดูมิเตอร์

งานพื้น

อุปกรณ์ที่ต้องมี ถุงเท้า เหรียญบาท ลูกแก้ว ประมาณ 20-30 ลูก หรือลองเดินลากเท้าดูว่ามีสะดุด ตรงไหนหรือเปล่า กระดาษกาว กล้องถ่ายรูป

  1. ให้เดินลากเท้าเปล่าดูว่ารอยกระเบื้อง แกรนิต หรือหินอ่อนหรือ แผ่นไม้หรือไม้ปาร์เก้ที่ปูนั้นเรียบเสมอดีหรือไม่ หลังจากนั้นให้ใส่ถุงเท้าแล้วเดินลากไปตามพื้นเช่นเดิมจะได้รู้ว่ามีรอยอีกหรือเปล่า และตามร่องที่ปูสะอาดหรือเปล่า
  2. ใช้เหรียญ 10 บาทเคาะพื้นว่ามีเสียงพื้นโปร่ง หรือเปล่า หากมีให้นำกระดาษกาวแปะทำเครื่องหมายเอาไว้ หรือใช้ชอล์กกากบาทไว้ แล้วถ่ายรูปเก็บเป็นหลักฐาน
  3. วางลูกแก้วไปบนพื้นหากเป็นไปได้ ควรวางห่างกันอย่างน้อย 10 เซนติเมตรแล้วดูว่าลูกแก้วไหลไปทางไหน หากไหลรวมกันแสดงว่า พื้นเป็นหลุม หากจุดไหนไม่มีลูกแก้วอยู่แสดงว่าพื้นปูด ให้เอากระดาษกาวแปะเอาไว้เหมือนเดิม พร้อมดูยารอยแนวให้เรียบร้อย
  4. ดูความเรียบร้อยของพื้นโดยให้ความสนใจตรงรอยต่อระหว่างวัสดุกับตรงจุดที่มีการเปลี่ยนของระดับพื้นมากพิเศษ
  5. พื้นบริเวณด้านนอกตัวบ้าน ควรอยู่สูงกว่าระดับของถนนด้านหน้าบ้าน

งานกำแพง ผนัง

  1. เดินดูกำแพงว่าสะอาดดี หรือไม่ Wallpaper ที่ติดเอาไว้เรียบเสมอกันดีหรือเปล่า โดยให้เอาหน้าแนบดูกับกำแพงว่าเรียบเสมอกันดีหรือเปล่า มีกำแพงบุบหรือโป่งหรือไม่
  2. ตามขอบบัวติดผนังให้เอาไม้บรรทัดวางลงกับพื้นแล้วเลื่อนดู หากมีการโป่ง หรือเว้าตัวของบัวจะเห็นช่องว่างที่อยู่ระหว่างไม้บรรทัด กับขอบบัว
  3. สีนอกอาคารดูให้ทั่วว่ามีรอยร้าวหรือเปล่า มีรอยน้ำหรือเปล่า หากมีแสดงว่าน้ำรั่วให้หาสาเหตุโดยด่วน
  4. ตามประตู และหน้าต่างให้ลองเปิดปิดดูทุกบาน ดูว่ามีการทรุดตัวของประตู หรือหน้าต่างหรือไม่ ลองปิดแบบปล่อยให้ประตูปิดเองจะรู้ได้ทันที และให้ปิดประตูแล้วเอาไฟฉายส่องดูว่ามีแสงลอดหรือเปล่า พร้อมทั้งตรวจดูกุญแจทุกดอกดูว่าใช้งานได้หรือเปล่า
  5. ประตูรั้วหน้าบ้าน ลงล็อคดีหรือเปล่า สามารถใช้งานได้หรือไม่ ลองเปิดและปิดดู
  6. ตรวจสอบรอยร้าวกำแพงรั้วบ้าน และดูความเรียบร้อย

ระบบฝ้าเพดาน

       ตรวจสอบระบบฝ้าเพดานจะคล้ายกับการตรวจ พื้น และผนัง คือตรวจสอบดูความเรียบร้อยทั่ว ๆ ไป ระดับการติดตั้ง การเข้ามุม ความเรียบร้อยบริเวณรอยต่อต่าง ๆ และหากมีร่องรอยหยดน้ำอยู่ที่ฝ้าเพดาน ต้องรีบตรวจสอบหาสาเหตุของรอยดังกล่าวอย่างละเอียด เมื่อตรวจสอบสภาพภายนอกของฝ้าเพดานแล้ว ให้เอาบันไดมาปีนดูช่องเปิดของฝ้าเพื่อตรวจสอบ ปูนโป๊ว ระยะโครงต่าง ๆ ว่ามีความเรียบร้อยสม่ำเสมอกันหรือไม่

ระบบช่องเปิด-ปิด กลอน ประตู หน้าต่าง กุญแจ

     หลักการใหญ่ ๆ ในการตรวจสอบประตูหน้าต่าง และช่องเปิดอื่น ๆ คือ การตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น มือจับ กุญแจ บานพับ กลอนประตู หน้าต่าง ติดตั้งในตำแหน่งที่ถูกต้อง ได้แนวได้ระดับถูกต้อง สวยงาม ตรวจสอบดูกลอนประตูว่าหลวม หรือแน่นไปหรือไม่ ประตู หน้าต่างดังกล่าวเปิดปิดเป็นอย่างไร ปิดไม่สนิท หรือปิดลำบาก หรือไม่ การยาแนวระหว่างกระจกกับบานประตูเรียบร้อยทั่วถึงหรือไม่ ทดลองใส่กลอนทุกตัวว่าใส่ได้จริงๆ และเรียบร้อยหรือไม่ กุญแจ ต่าง ๆ เปิดปิดได้จริงๆ หรือไม่  และดู Door Stop มียางกันกระแทกหรือเปล่า

ระบบสุขาภิบาล

      ในการตรวจสอบระบบสุขาภิบาลนั้น ควรทดลองใช้งานสุขภัณฑ์ทุกตัว เปิดก๊อกน้ำ จนสุดทุกก๊อก ดูว่าน้ำไหลดีไหม การหมุนของวาวเป็นอย่างไร ทดลองหมุนเข้า หมุนออก และตรวจเช็คข้อต่อว่ามีรอยรั่วซึมหรือไม่ โดยมีวิธีการเช็ครอยรั่วซึมในจุดที่มองไม่เห็นได้ด้วยการปิดการใช้น้ำทุกตัว ถ้าวาล์วน้ำยังหมุน หรือปั๊มน้ำยังมีการทำงานถี่ตลอดเวลา แสดงว่าบ้านท่านมีอาการรั่วซึม ต้องทำการตรวจเช็คโดยด่วน

      จากนั้นก็ตรวจเช็คระบบช่องน้ำล้นในสุขภัณฑ์ ด้วยการขังน้ำไว้ ในสุขภัณฑ์ ในบริเวณที่ขังได้ เช่น อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ อ่างครัว ที่ซักผ้า ทดลองขังน้ำไว้ให้เต็ม ดูว่าช่องน้ำล้นทำงานหรือไม่ เสร็จแล้วปล่อยน้ำออกในทันทีดูว่าน้ำไหลได้สะดวกหรือไม่ ถ้ามีอาการ ปุดๆ แสดงว่า ไม่มีท่ออากาศ หรือท่ออากาศตัน หรือท่ออากาศเล็กไป และถ้าอยู่ในห้องน้ำเดียวกัน ให้ทดลองเปิดน้ำออกพร้อมกัน เพื่อดูว่า การแย่งกันไหลออกของน้ำ มีผลอย่างไร จะให้ดีให้ลองกดชักโครกทดสอบการใช้งานไปพร้อมๆ กันด้วย ยิ่งดีครับ เพื่อให้ระบบน้ำแย่งกันใช้งาน ให้มากที่สุด และสังเกตด้วยว่าน้ำในชักโครกไหลคล่องหรือไม่

      ตลอดจนทดสอบกดสายชำระทุกอัน ดูว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ จากนั้นให้เอาถังน้ำที่เตรียมไว้มา รองน้ำให้เต็ม แล้วค่อยๆ เทลงพื้นห้องน้ำเพื่อให้น้ำไหลลงท่อระบายน้ำ ถ้าทำได้ให้เอาผ้าอุดที่รูระบายน้ำพื้น ให้น้ำขัง แล้วค่อยปล่อยน้ำให้ไหล ดูว่า การระบายน้ำที่พื้น เป็นอย่างไร สุดท้ายลองตรวจสอบดูตามจุดอับ จุดซ่อนเร้นต่าง ๆ เช่น บริเวณใต้เคาร์เตอร์ว่าช่างเก็บงานเรียบร้อยหรือไม่ ตรวจสอบปากท่อระบายน้ำทุกที่ ไม่ควรมีวัสดุหรือรอยปูนตกค้างอยู่